Monday, March 12, 2007

กลยุทธ์ที่ดีที่สุดคือการโกง...

หลายวันก่อนผมได้ไปกินสุกี้ร้านที่อร่อยที่สุดในเมืองมา โดยไปกินกับแฟนของผมก่อนที่เธอจะขึ้นรถกลับกรุงเทพ...ร้านนี้บริการไม่ค่อยดีนัก ถ้าไม่ติดว่าร้านนี้เป็นร้านสุกี้ที่อร่อยที่สุดในเมืองล่ะก็ ผมคงไม่อยากเข้ามาเหยียบร้านนี้นักหรอก...


พออิ่มกันก็สั่งเช็คบิล เก็บเงิน ทันใดนั้นแฟนของผมที่ละเอียดรอบคอบโดยเฉพาะเรื่องเงินก็ได้ตรวจทานดูบิลว่าถูกต้องหรือไม่ แต่ด้วยความสามารถพิเศษของเธอทำให้เห็นว่า มีรายการอาหารที่ไม่ได้สั่งเกินมา คุณเธอก็เลยโวยวายนึดนึงว่าอันนี้ไม่ได้สั่งนะ...

สุดท้ายก็ตกลงกันได้ว่าจะเอารายการอาหารที่ไม่ได้สั่งลบทิ้งไป ทำให้จ่ายน้อยลงไป 20 บาท - -* แต่คุณเธอก็ยังเคืองไม่หาย และคิดว่าถูกร้านโกงไปเกือบ 40 บาทเชียว...

ส่วนผมเองก็เอาบิลมาดูและก็เห็นว่าเขียนเกินมาจริงๆ แต่แฟนผมเค้าโวยวายแทนไปก่อนแล้ว แต่อะไรๆ ก็ผ่านมาแล้ว แล้วคุณล่ะคิดว่าร้านสุกี้ร้านนี้จงใจโกงผมไหม...

บางทีคนร้านเค้าอาจจะเขียนบิลด้วยความเคยชินว่าอาหารชุดแรกที่สั่งต้องเป็น ผัก ไข่ และวุ้นเส้น จึงได้เขียนรายการอาหารที่ว่าลงในบิลไปก่อน แต่เผอิญผมไม่ได้สั่ง ผัก และวุ้นเส้นตั้งแต่แรก และหากลูกค้าไม่ได้โวยวายอะไรกับบิล ร้านสุกี้จะได้รับผลประโยชน์จากกรณีผม 20-40 บาท แต่ว่าหากถูกจับได้ว่ามั่วนิ่มล่ะก็ อย่างมากก็ขอโทษและลบรายการที่เกินออกไป...

จากกรณีนี้จะเห็นได้ว่าร้านสุกี้จะได้รับผลประโยชน์หากโกง เป็น + และเขียนรายการอาหารตามจริงเป็น 0 และหากโกงแล้วถูกจับได้ แต่ลบรายการที่สั่งเกินออกเป็น 0

ในขณะที่ลูกค้าจะได้รับผลประโยชน์เป็น - หากไม่ดูบิลให้ถี่ถ้วน และเป็น 0 หากรักษาผลประโยชน์ตัวเองและโวยวายเรื่องบิลขึ้นมา...

เอาล่ะครับผมจะนำเข้าสู่ทฤษฎีๆ หนึ่ง เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการรักษาผลประโยชน์ในชีวิตประจำวันของคนเรา หรือแม้แต่ในธุรกิจ นั่นก็คือ ทฤษฎีเกม หรือ Game Theory นั่นเอง

ทฤษฎีเกมที่ว่านี้ถูกคิดค้นขึ้นโดย จอห์น ฟอน นิวแมน (1903-1957)อัจฉริยะทางคณิตศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยพริ้นซ์ตัน และถูกต่อยอดโดย จอห์น แนช (1928-)ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเดียวกัน และทำให้ แนช ได้รับรางวัลโนเบล สาขา เศรษฐศาสตร์ในปี 1994 จากทฤษฎีนี้

"ทฤษฎีเกม" เป็นเรื่องที่ว่าด้วยพฤติกรรมของมนุษย์ในการแย่งชิงผลประโยชน์ และวิเคราะห์หากลยุทธ์ที่ดีที่สุดในสถานการณ์นั้นๆ ไม่เพียงแต่การแย่งชิงผลประโยชน์กันเท่านั้น ยังอธิบายถึงการที่ต่างฝ่ายต่างร่วมมือกันเพื่อผลประโยชน์สูงสุดอีกด้วย...

ในกรณีร้านสุกี้ที่เขียนบิลเกินราคาสามารถอธิบายด้วยทฤษฎีนี้ได้ง่ายๆ ว่า การแย่งชิงผลประโยชน์ของร้านสุกี้กับลูกค้าถือเป็นเกม โดยที่ลูกค้าจะต้องรักษาผลประโยชน์ตัวเองให้จ่ายน้อยที่สุดของราคาจริงหรือไม่ก็จ่ายเท่ากับราคาจริง ในขณะที่ร้านค้าก็ต้องได้เงินมากที่สุด หรือไม่ก็ต้องเท่าทุน การแย่งชิงผลประโยชน์กันจึงเกิดขึ้น...

ในเกมที่ต่างฝ่ายต่างเจอกันครั้งเดียวนั้น กลยุทธ์ที่ดีที่สุดคือการโกง อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะผมเองก็คงจะไม่ได้กินสุกี้ทุกวัน ในขณะที่ร้านก็จะไม่ได้เจอผมทุกวันด้วย คล้ายๆ กับคุณไปท่องเที่ยวที่แห่งหนึ่งครั้งแรกคงเคยบ้างที่ซื้อของที่ระลึกที่ราคาแสนแพง แต่คุณก็ซื้อมันมาเพราะเป็นความทรงจำที่ดี ในขณะที่คนขายเองก็ต้องพยายามขายของให้ราคาสูงที่สุดเพราะถือว่าเจอกันครั้งเดียวนี่...การโกง หรือ โก่งราคาสินค้าจึงเกิดขึ้น

สมัยผมเรียนซัมเมอร์อยู่ที่เชียงใหม่ ผมได้ไปซื้อของในไนท์บาซ่าร์ที่นั่น โดยเข้าไปดูในร้านเครื่องหนังร้านหนึ่ง ผมถามราคาเข็มขัดกับเจ้าของร้าน เขาตอบว่า เส้นละ 500 และผมพยายามจะต่อราคาเพราะรู้ว่าสามารถต่อให้ลดลงได้อีก ในขณะนั้นเองก็มีลูกค้าฝรั่งเข้ามาถามราคาเข็มขัดเส้นเดียวกัน เจ้าของร้านบอกว่า 3000 - -* และพูดถึงสรรพคุณมันใหญ่เลย...งานนี้ลูกค้าฝรั่งเป็นเหยื่อ...

เพราะฉะนั้นในกรณีร้านสุกี้ จึงไม่ต้องสงสัยว่า ร้านสุกี้จะต้อง โกง ไว้ก่อน เพราะมันได้ประโยชน์เห็นๆ อย่างมากก็ไม่ได้อะไร...

แต่ทฤษฎีเกมไม่ได้บอกเพียงแค่นี้ หากมีเกมเกิดขึ้น และมีจำนวนครั้งไม่แน่นอน เช่น ผมต้องไปกินร้านสุกี้ร้านนี้บ่อยๆ กับครอบครัว คนรู้จัก เพื่อนฝูง เงินเดือนออก ฯลฯ เดือนละ 5-6 ครั้ง โดยที่เข้ามาไม่แน่นอนว่าวันไหนบ้างล่ะก็ ร้านค้าจะไม่กล้าทำการ โกง แน่ๆ เพราะหากโกงขึ้นมาบ่อยๆ จะทำให้เสียลูกค้า ทำให้ร้านสุกี้ได้รับผลประโยชน์เป็น - เนื่องจากเสียลูกค้าประจำไป

แต่ก็อีกนั่นแหละ หากเป็นเกมที่เล่นกันเป็นจำนานครั้งที่แน่นอน เช่น 10 ครั้ง 100 ครั้ง แล้วล่ะก็การโกงมันตาแรกๆ หรือครั้งแรกๆ คงไม่ใช่เรื่องดีแน่ๆ แต่...ในครั้งสุดท้าย เช่นตาที่ 10 ครั้งที่ 100 กลยุทธ์ที่ดีที่สุดก็คือการโกงเช่นเดิม

ยกตัวอย่างการเจรจาธุรกิจร่วมกันของ 2 บริษัท ระหว่างลูกค้ากับโรงงาน เป็นเวลา 1 ปีล่ะก็ คงจะไม่ดีแน่หากโรงงานจะโกงลูกค้าตั้งแต่ตาแรก เพราะไม่อย่างนั้นโรงงานเองก็จะถูกประณาม รวมทั้งอาจถูกแบล็คลิสต์ จากลูกค้าอื่นๆ ด้วย แต่เมื่อใกล้จะสิ้นสุดสัญญาและต่างฝ่ายต่างไม่คิดจะจับมือกันต่อแล้วล่ะก็ ในรอบสุดท้ายกลยุทธ์ที่ดีที่สุดคือการโกงแน่นอน เพราะไม่มีประโยชน์อะไรหากจะร่วมมือร่วมใจกันต่อไป...ต้องตักตวงผลประโยชน์ก้อนสุดท้ายไว้ จริงไหม...

เมื่อเป็นเช่นนี้ในการเจรจารอบก่อนรองสุดท้าย กลยุทธ์ดีที่สุดก็คือการโกงเช่นเดิม เพราะต่างฝ่ายรู้อยู่แล้วว่าการเจรจารอบสุดท้าย ต่างฝ่ายจะต้องโกงแน่นอน...และเมื่อคิดย้อนกลับไปเรื่อยๆ ก็จะพบว่า กลยุทธ์ที่ดีที่สุดครั้งแรกคือการโกงเช่นเดิม การโกงจึงเป็นกลยุทธ์ที่ดีที่สุด แต่หากโดนจับได้ค่อยว่ากันอีกที...

เอาล่ะครับ ที่ยกเรื่องนี้มาพูดก็เพราะว่า เรื่องนี้มันอาจเกิดขึ้นได้กับชีวิตประจำวันของทุกคน ไม่มีใครเกิดมาไม่เคยโดนโกง อยู่ที่ว่าคุณจะรู้จักรับมือกับมัน และรักษาผลประโยชน์ของคุณเองไม่ให้ถูกโกงได้อย่างไร...

By.gazebosky

No comments: